วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิยามวัฒนธรรมล้านนา

วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่หมู่คณะ ประกอบไปด้วย ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ประเพณี จารีต กฏหมาย เป็นเอกลักษณ์ร่วมที่เป็นแบบแผนในสังคม โดยสัมผัสได้จาก วิถีชีวิต พฤติกรรม บุคคลิกภาพ และถูกเก็บสะสม พัฒนา และถ่ายทอดสู่ชนนรุ่นหลังล้านนา เป็นขอบเขตทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย หมายรวมถึงจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน รวมถึง ตาก และ อุตรดิตถ์บางส่วน ล้านนาเป็นชื่อต้นของอาณาจักรที่สถาปนา โดย พญามังรายมหาราช ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ที่จริงแล้วขอบเขตอาณาจักรล้านนา ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ในอดีตก่อนมีแผนที่ประเทศไทย ล้านนาเคยมีดินแดนกว้างขวางเข้าไปในส่วนหนึ่งของพื้นที่รัฐฉานที่อยู่ในประเทศพม่าปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของยูนนานใต้ประเทศจีน แถบสิบสองปันนา และส่วนหนึ่งของประเทศลาวตอนเหนือในปัจจุบันวัฒนธรรมล้านนา หมายถึง วัฒนธรรมที่มีแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่เคยเป็นดินแดน อาณาจักรล้านนาในอดีต ปรากฏให้เห็นใน วัฒนธรรมการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งความเชื่อ ศิลปะ ประเพณี และจารีต ซึ่งสามารถสังเกตและสัมผัสได้ จากวิถ๊ชีวิต พฤติกรรมหรือบุคคลิกภาพ ของผู้คนที่ส่วนมากมีบรรพบุรุษสืบสายมาจากผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในดินแดนอาณาจักรล้านนาในอดีตวัฒนธรรมล้านนา ไม่ได้มีลักษณะที่มีแบบอย่างลักษณะเดียว (Typical)เนื่องจากชาติพันธุ์ของผู้คนในล้านนามีลักษณะผสมผสาน โดยเริ่มแรกก่อนตั้งอาณาจักรได้มีชาวละว้า อพยพมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นมีชาวละโว้ ลพบุรี อพยพขึ้นมาสมทบในยุค อาณาจักร หริภุญชัย และเมื่อ หริภุญชัยเสื่อมลง ชาวไตโยนจาก อาณาจักรโยนก ได้เคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก และตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้น หลังจากนั้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ล้านนาได้เป็นที่รวมของชาติพันธุ์ไตหลายเผ่ามากขึ้น ได้แก่ ไตลื้อ ไตเขิน ไตยอง ไตใหญ่ รวมทั้ง ชาวละว้าเดิม และชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมล้านนาได้เกิดการผสมผสานจากสายวัฒนธรรมหลักของชาวไตโยน ที่มีต้นเหง้ามาจากไทลื้อโบราณ วัฒนธรรมชาวละว้าโบราณบางส่วน วัฒนธรรมของชาวไตเขิน ไตยอง ที่มีต้นเหง้ามาจากไตลื้อ เหมือนเช่น ไตโยน และวัฒนธรรม ไตใหญ่ และพม่า ศิลปะและสถาปัตยกรรมของล้านนา ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจาก พุกาม สุโขทัย และจีน แต่โดยรวมแล้วบรรพบุรุษล้านนาได้สะสมภูมิปัญญา ความรู้ในแขนงต่างๆ สร้างสรรค์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงาม ไม่มีใครเหมือน มีความลงตัวและมีเอกลักษณ์ที่ล้ำค่าภายหลังจากการเสื่อมลงของอาณาจักรล้านนา วัฒนธรรมล้านนาไม่ได้เสื่อมหายไปทั้งหมด ชาวล้านนาทั้งหลายได้สืบสานวัฒนธรรมต่างๆ เอาไว้ได้โดยส่วนมาก ในยุคที่เป็นเมืองขึ้นของพม่า ชาวล้านนาได้นำเอาวัฒนธรรมของพม่าเพียงเล็กน้อยมาเพิ่มเติม ทำให้มีสีสรร เช่น อาหาร ศิลปะ สถาปัตยกรรม เมื่อล้านนาได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม วัฒนธรรมจากสยามได้ไหลบ่ามาสู่ดินแดนล้านนา ทำให้เกิดการผสมผสานและรับเอาวัฒนธรรมสยามเข้ามาจำนวนมากจนปัจจุบัน นอกจากนั้นวัฒนธรรมจากตะวันตกที่ผ่านมาทางสยามที่ภายหลังคือ กรุงเทพฯ ได้ส่งอิทธิพลมาสู่ล้านนาอย่างท่วมท้น เช่นกันธรรมชาติของวัฒนธรรมย่อมมีการปรับเปลี่ยน เพื่อความเหมาะสม สัดส่วนในการปรับเปลี่ยนมีนัยสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ในวัฒนธรรม วัฒนธรรมล้านนาปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไปมาก มีตัวแปรมากมายที่มีผลต่อการทำลายเอกลักษณ์วัฒนธรรมล้านนา ได้แก่ ประชากรส่วนใหญ่ของดินแดนวัฒนธรรมล้านนาที่ไม่ใช่ลูกหลานคนล้านนาและลูกหลานชาวล้านนาได้ปฏิเสธวัฒนธรรมล้านนา หรือคนต่างวัฒนธรรมผู้ที่มาอาศัยและมาเที่ยวชมในดินแดนล้านนาไม่เคารพและยอมรับอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา และอีกประการหนึ่งคือการละทิ้งสิ่งดีในวัฒนธรรมล้านนาเดิม เปลี่ยนแปลงโดยรับวัฒนธรรมจากที่อื่นล้วนๆ ไม่สร้างสรรค์ผสมผสานวัฒนธรรมเก่าและใหม่ให้สะดวกเหมาะสมและคงคุณค่าในอัตลักษณ์ล้านนา การนำเอาวัฒนธรรมล้านนามาใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ เช่น การนำเอาศิลปและสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นสิ่งเคารพที่เป็นของสูง ไปใช้ในเชิงลบหลู่ บิดเบือนความหมาย หรือใช้ไปในเชิงพานิช อันเป็นการลดคุณค่า ที่มีความหมายต่อจิตใจลง เป็นต้น แล้วเราจะปล่อยให้กระแสโลกาภิวัฒน์แทรกซึมและขจัดความเป็นท้องถิ่นของล้านนาที่บ่มเพาะสั่งสมพัฒนาจนหายหมดสิ้นไปในวันข้างหน้าเชียวหรือ ov

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น