วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ล้านนาไม่เคยตาย

"ล้านนา" คำที่ถูกใช้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ระบอบการศึกษาของไทยหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองได้ทำให้พัฒนาการด้านการศึกาของไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น จำนวนนักวิชาการและผู้ศึกษาในวิชาการต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้การค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา ศิลป วัฒนธรรมประเพณี เฟื่องฟูขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังที่ทิศทางการพัฒนาของประเทศเริ่มถูกมองว่า มีเป้าหมายที่เริ่มไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการสร้างหลักสูตรและแบบแผนการศึกษาของเยาวชนทั่วประเทศ

บทความและการสัมมนาในทศวรรษหลังที่ผ่านมา อ้างอิงในเรื่องล้านนาเป็นจำนวนที่มากขึ้น ก่อนหน้านั้นอยู่ในแวดวงค่อนข้างจำกัดของนักวิชาการระดับมหาวิทยาลัย และระดับหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมของรัฐบางหน่วย ประชาชนทั่วไปและเยาวชนคนรุ่นใหม่รวมทั้งสื่อและนักท่องเที่ยว ได้ใช้คำ "ล้านนา" แพร่หลายมากขึ้น ภายหลังที่ยุคโลกาภิวัฒน์ ชักจะแพร่สะพัดเหิมเกริมในความรู้สึกของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ที่การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญทั้งระดับปากท้องประชาชน เศรษฐกิจชุมชน และระดับรัฐ

"ล้านนา" เดิมที่หาหลักฐานได้จากอักขระอักษรธรรมที่อยู่ในหนังสือใบลานโบราณ และเพียงคำพูดบอกเล่าของผู้อาวุโสในตระกูลเชื้อเจ้าและภิกษุนักปราชญ์ต่างๆ ขณะนี้ "ล้านนา" ได้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและระดับสากลไปแล้วว่า "ล้านนา" มีตัวตน และยังไม่ตาย

"ล้านนา" เป็นรูปธรรมที่รับรู้ได้ถึง ขอบเขตพื้นที่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
"ล้านนา" เป็นรูปธรรมที่รับรู้ได้ทางเอกลักษณ์ด้าน ศิลปกรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม คหกรรม หรือหมายรวมเอาความเป็นวัฒนธรรมด้านสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาทั้งหมด ซึ่งรวมถึง
"ล้านนา" ที่เป็นนามธรรมที่รับรู้ได้ถึงเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม คติ ความเชื่อ โลกทัศน์ต่างๆ

ปัจจุบัน แม้ว่า "ล้านนา" ในความหมายทางการเมืองได้สิ้นสุดไปสองร้อยกว่าปีแล้ว
แต่ "ล้านนา" ในมิติของ ตัวตน ที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งความเป็นรูปธรรมและนามธรรมยังดำรงอยู่ ไม่ว่าจะมีลักษณะของการเคลื่อนไหวในลักษณะมีพัฒนาการไปทางธรรมชาติ หรือ เกิดการเสริมแต่งแสร้งว่าเพื่อผลประโยชน์ในมิติระดับใดๆ อย่างไรก็ตาม ยากที่ปฏิเสธว่า อัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่ไม่เหมือนใครของล้านนานั้นยังงดงามและยังเป็นเสน่ห์ที่อยู่ในสายเลือดของคนท้องถิ่น ณ ปัจจุบันขณะ และคงยากที่จะเลือนหายหมดสิ้นไปในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ปี